"ภายใต้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ที่นี่ ความงดงามและสรรพชีวิตต่างเบิกบานและหลากหลาย ชีวิตบังเกิดใหม่ในทุกวินาที... "
บทภาวนาในกิจกรรม "คืนสู่ธรรมชาติของใจ" ในธีม {ป่าดงดิบ} ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อเดือนที่แล้วบรรยายถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเพื่อพาผู้เข้าร่วมไปสัมผัสกับความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะน้อมใจให้กลับมาที่ร่างกายของตัวเองอีกครั้ง
ในสถานการณ์ที่ทุกคนบนโลกไม่เว้นแม้แต่ตัวเราเองกำลังวุ่นวายอยู่กับความทุกข์ใจและความเป็นความตายที่อยู่ใกล้แค่ปลายจมูก เราทุกคนไม่อาจรู้ได้เลยว่าในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้เราหรือใครจะเป็นหนึ่งในผู้ประสบเคราะห์ภัยหรือไม่ และจะมีโอกาสได้อยู่กับคนที่รักหรือสิ่งที่หวงแหนได้อีกนานเท่าใด ด้วยความบีบคั้นและมืดมัวหาทางออกได้ยากนี้ การได้ปลีกกายและใจสักพัก และกลับมาสู่บ้านของใจภายในตัวเองอีกครั้งอาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยให้เราแต่ละคนได้พักผ่อนบ้าง นี่เองที่เป็นแนวคิดเริ่มต้นในการจัดกิจกรรมครั้งนี้
คำถามจากสรรพสิ่งในป่า
กิจกรรมนี้เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกัน ด้วยความกะทัดรัดของกิจกรรมซึ่งกระบวนกร (นอร์ท อัครา) ได้เปิดให้มีผู้เข้าร่วมได้เพียงรอบละ 3-5 คนเท่านั้น ทำให้วงสนทนานี้เป็นไปด้วยความใกล้ชิด และ "เสียง" ของทุกคนก็ถูกได้ยิน อีกน่าจะด้วยเพราะความสงบเย็นแต่ชวนหยอกทีเล่นทีจริงของผู้เข้าร่วมและบรรยากาศที่ถูกสร้างขึ้นจึงทำให้การเริ่มต้นกิจกรรมนี้ให้ความรู้สึกสบายอย่างบอกไม่ถูก ถึงขนาดที่บางคนหยิบอาหารขึ้นมาทานไปด้วย (คงหิวล่ะสิ! 555)
จากนั้นเราทุกคนจึงเริ่มเดินทางเข้าสู่ป่าดงดิบด้วยกัน...
การเดินเท้าเข้าป่า (เสมือน) ในครั้งนี้ กระบวนกรพาให้ทุกคนนั่งลงพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ใจกลางของป่า พร้อมกับเสียงของสิงห์สาราสัตว์ แค่ได้พักผ่อนทางใจอย่างนี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่สิ่งที่ตามมาอีกและเป็นแกนกลางของกิจกรรมด้วยคือ "คำถาม" ที่สรรพสิ่งในป่าชวนพวกเราทุกคนให้ทบทวนและแบ่งปันคำตอบเพื่อเรียนรู้จากกันและกัน
กระบวนการในช่วงนี้ค่อนข้างเข้มข้น และสิ่งที่เกิดขึ้นคือความมหัศจรรย์ที่ผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้แบ่งปันให้แก่ตนเองและเพื่อนร่วมวงทุกคน
(เราขอปิดส่วนนี้ไว้เป็นความลับ เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล)
เสียงแว่วจากผืนป่า
หลังจากทุกคนได้เรียนรู้บทเรียนของตนเองในผืนป่านั้นด้วยใจที่อิ่มฟูแล้ว ก็ถึงเวลาเดินทางออกจากป่าและเป็นช่วงเวลาของการถอดบทเรียนร่วมกัน แต่ละคนอาจได้ค้นพบบางสิ่งบางอย่างจากช่วงเวลานี้ ซึ่งอาจติดทนนานตลอดไป หรืออาจหลงลืมไปง่ายๆ หลังจากนี้ แต่ความคงทนหรือไม่นั้นก็อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญอะไร เพราะความมหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นแล้วในการได้พักหัวใจของตัวเองวันนี้ ช่วงเวลานี้
ด้วยบทเรียนที่ผืนป่าได้มอบให้ และด้วยความขอบคุณที่ผืนป่าได้รับฟังเสียงของพวกเราในการเดินทางภายในครั้งนี้ Soul School Society จึงขอเปิดพื้นที่หลังกิจกรรมด้วยเนื้อหาส่วนต่อไป เพื่อให้ทุกคนได้ "ฟังเสียงของผืนป่า" บ้างเช่นกัน
"ป่าดงดิบ" เป็นหนึ่งในธีมของกิจกรรม "คืนสู่ธรรมชาติของใจ" ที่ผู้เข้าร่วมจำนวนมากให้ความสนใจ เมื่อสอบถามกลับไปก็พบว่าหลายคนให้คุณค่ากับการได้กลับคืนสู่ "ป่า" ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ใกล้ตัวที่สุด และความอุดมสมบูรณ์ของป่านั้นเองที่ให้พลังใจแก่เราทุกครั้ง
แต่ผืนป่าจะอยู่กับเราต่อไปอีกนานแค่ไหน?
จากข้อมูลของ Global Forest Watch แสดงให้เราเห็นว่าประเทศไทยมีพื้นที่ที่เป็นป่าเพียง 39% (ข้อมูลปี 2000) และที่เหลือคือพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ใช้สอยของชุมชนและเมือง นั่นหมายความว่ามนุษย์เพียงสายพันธุ์เดียวได้เปลี่ยนแปลงป่าที่เคยมีอยู่ตั้งแต่ครั้งโบราณให้กลายเป็นพื้นที่ใช้สอยของตนเองไปแล้วถึง 61% ใช่ไหม?
[ภาพจาก Global Forest Watch]
สาเหตุของการสูญเสียพื้นที่ป่าของไทยคืออะไร?
ในกิจกรรม "คืนสู่ธรรมชาติของใจ" มีช่วงเวลาหนึ่งที่ผืนป่าได้บอกเล่าเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เขาถูกบุกรุกและถูกเปลี่ยนให้เป็นผืนดินรกร้าง แต่เราก็ไม่ได้ถามกลับไปว่าเหตุการณ์นั้นเกิดจากอะไร
สาเหตุหนึ่งที่ถูกเพ่งเล็งจากคนจำนวนมากและภาครัฐคือการทำไร่หมุนเวียน (บางคนเรียกว่า “ไร่เลื่อนลอย” ซึ่งความเป็นจริงอาจไม่ได้เลื่อนลอยอย่างชื่อเรียก) ไร่หมุนเวียนของชาวบ้านคือสาเหตุที่สำคัญจริงหรือ? จากตัวเลขทางสถิติพบว่าไร่หมุนเวียน (shifting agriculture) ทำให้พื้นที่ป่าสูญเสียไป 6% (7.92 kha ในปี 2019) ...แต่นี่ก็ยังไม่ใช่สาเหตุหลัก
อีกเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ของการสูญเสียป่าเกิดจากอะไรกันแน่?
แม้แต่การขยายตัวของเมือง (urbanization) ที่บางคนกังวลว่าจะทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าจำนวนมากก็ยังส่งผลคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพียง 0.007% (10 ha) สาเหตุสำคัญของการสูญเสียพื้นที่ป่าของไทยที่มากที่สุดกลับเป็น “อุตสาหกรรมป่าไม้” (forestry) ซึ่งทำให้เสียพื้นที่ป่าถึง 58% (75.1 kha) และอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลมากตามมาติดๆ คือ “การใช้พื้นที่ป่าของทุน” (commodity-driven deforestation) ที่ตัวเลข 36% (46.3 kha)
อาจกล่าวได้ว่า 94% ของการสูญเสียพื้นที่ป่าของไทยนั้นมาจากอำนาจของทุนและกระบวนการในอุตสาหกรรมป่าไม้
แม้การเดินทางของใจเข้าสู่ป่าเสมือนจะทำให้หลายคนได้พักผ่อนและทบทวนตัวเอง แต่ต่อไปในอนาคต ลูกหลานและคนไทยรุ่นถัดไปจะสามารถจินตนาการถึงป่าที่อุดมสมบูรณ์ในความคิดของพวกเขาเพื่อที่จะใช้ในการเดินทางของใจได้อย่างที่คนในยุคนี้ทำได้หรือไม่
ความหวังเดียวของเราที่จะรักษาป่าจริงๆ เอาไว้อาจคือการช่วยกันลดความเสี่ยงของการรุกรานป่า ลดการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ (หรืออย่างน้อยที่สุดก็ช่วยกันทำให้ยั่งยืน -sustainable) ช่วยกันปลูกป่าทดแทนด้วยวิธีการที่ถูกต้อง และเลือกใช้พื้นที่โดยคำนึงถึงการฟื้นฟูความหลากหลายของพืชและประชากรสัตว์ เพราะป่าไม่ใช่แค่การรวมตัวกันของต้นไม้เพียงอย่างเดียว แต่คือระบบนิเวศที่อาจต้องใช้เวลานับร้อยปีในการฟื้นกลับคืน
ในปี 2020 จังหวัดที่มีสถิติการสูญเสียพื้นที่ป่าสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (305 kha) นครศรีธรรมราช (156 kha) สงขลา (144 kha) กระบี่ (134 kha) และ ตรัง (126 kha) นี่อาจเป็นจุดเสี่ยงบางส่วนที่เราควรเริ่มหันมาใส่ใจ เพราะเมื่อป่าได้ดูแลเราแล้ว เราก็อาจจะต้องช่วยกันดูแลป่าด้วยเช่นกัน
"... บนโลกนี้ ไม่มีที่ใดเลยที่ไม่เคยเป็นผืนป่า ทุกที่มีต้นไม้ ป่าอยู่ใกล้ชิดกับเราและดำรงอยู่ซ้อนทับกับตัวเราทุกคนในปัจจุบัน สาเหตุที่เราเองบางครั้งอาจจะมองไม่เห็นป่าที่อยู่รอบตัว ก็อาจจะเป็นเพียงเพราะว่ามีเส้นแบ่งของเวลามากั้นเราเอาไว้เท่านั้น ..."
อย่าให้บทภาวนานี้ชัดเจนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อีกเลย...
ข้อมูลป่าของไทยปี 2001-2020
จาก Global Forest Watch
และ World Resources Institute
แหล่งที่มาของข้อมูล: คลิก
Comments