top of page
นรธา

สายตาของเอเชียที่มองสมรสเท่าเทียม: กรณีฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น



‘สมรสเท่าเทียม’ และการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในบ้านเรามักถูกเปรียบเทียบกับประเทศทางยุโรปและอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง แม้การชี้ให้เห็นความแตกต่างกับประเทศตะวันตกจะทำให้เกิดความกดดันต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศ แต่แรงกดดันนั้นก็มักจะถูกตีกลับด้วยความคิดในทำนองที่ว่า ‘เราทำตามเขาไม่ได้ เพราะบ้านเมืองเรา (ประเทศไทย) มีวัฒนธรรมที่ต่างจากเขา (ตะวันตก)’ ในครั้งนี้เราจึงชวนให้ลองมองสมรสเท่าเทียมผ่านเลนส์ของคนเอเชียด้วยกันบ้างว่าเป็นอย่างไร


บทความนี้เขียนจากงานวิจัย “Legal recognition of same sex partnerships: A comparative study of Hong Kong, Taiwan and Japan” (2020) ซึ่งใช้วิธี ‘Asia as Method’ โดยเน้นเรื่องความคล้ายร่วม (the shared-ness) และความคล้ายในความต่าง (similarity-in-difference) ของคนในประเทศกลุ่มเอเชีย และหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตก (East-West binary)


 

‘สมรสเท่าเทียม’ เป็นภาพสะท้อนคุณภาพของสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศ สมรสเท่าเทียมคือองค์ประกอบหนึ่งที่บ่งชี้ว่าคนในประเทศสามารถเข้าถึงสิทธิที่แต่ละคนควรได้รับมาแล้วตั้งแต่เกิดมากน้อยเพียงใด โดยสิทธิเหล่านี้จะงอกงามได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่มีความเชื่อพื้นฐานเดียวกันนั่นคือเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

รากเหง้าทางวัฒนธรรมคือที่มาของความเป็นไปได้ในปัจจุบัน

หากย้อนกลับไปดูรากเหง้าของความเชื่อที่กลายเป็นกรอบการคิดและการปฏิบัติของคนเอเชีย (ในที่นี้จะเน้นย้ำเฉพาะฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น) จะพบว่าแนวคิดแบบขงจื่อ (Confucianism) นั้นมีความสำคัญและฝังรากลึกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในฮ่องกงและไต้หวัน แนวคิดนี้ได้กำหนดระเบียบแบบแผนการแบ่งบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนไว้อย่างชัดเจน แนวคิดขงจื่อนอกจากจะกำหนดบทบาทของชายและหญิงไว้แตกต่างกันแล้ว ยังมีส่วนในการกำหนดรูปแบบการปกครอง อำนาจหน้าที่ของผู้ปกครอง และพฤติกรรมของผู้ถูกปกครองด้วย ในขณะที่ญี่ปุ่นนั้นแตกต่างออกไป เพราะแนวคิดที่ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากคือระบบจักรพรรดิ (Emperor system) ซึ่งถูกโยงใยกับการเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ และเป็นศูนย์กลางที่ยึดโยงผู้คนในประเทศให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน


Heteronormativity = การทำให้ความรักต่างเพศกลายเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว

รักของเราต่างมีอุปสรรค 'คล้าย ๆ กัน'


ในฮ่องกง การแต่งงานเป็นสถานะทางสังคมที่คนจำนวนมากให้ความสำคัญ ในปี 2013 หญิงข้ามเพศที่ชื่อว่า ‘W’ ได้เริ่มการต่อสู้เพื่อให้การแต่งงานของเธอกับชายคนหนึ่งสามารถทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นที่น่ายินดีที่การต่อสู้ครั้งนั้นจบลงด้วยความสำเร็จ เมื่อการแต่งงานของ W ได้รับการรับรองทางกฎหมายจึงทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมในฮ่องกง จนนำไปสู่การตระหนักรู้เกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความสำเร็จครั้งนั้นก็ถูกมองว่าเป็นเพียง ‘การผลิตซ้ำ heteronormativity อย่างสุภาพ’ ซึ่งหมายถึงว่าการจดทะเบียนของ W นั้นเป็นการนำเอาการสมรสของเธอไปใส่ไว้ใต้กรอบแบบชาย-หญิงตามเดิม และไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การเป็นครอบครัวแบบสมรสเท่าเทียมได้


ความหวังที่เบ่งบานในไต้หวัน

ในไต้หวัน มีการขับเคลื่อนด้านกฎหมายอย่างเข้มข้น ปัจจุบันกฎระเบียบทางกฎหมายหลายข้อได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก จากเดิมที่ข้อกำหนดทางกฎหมายให้สิทธิส่วนใหญ่แก่ชาย-หญิงเพียงอย่างเดียว ได้เปลี่ยนมาสู่การให้สิทธิแบบเป็นกลางทางเพศ (gender-neutral) มากขึ้น โดยให้สิทธิแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันอย่างไม่จำกัดเพศ ที่นี่กระแสสมรสเท่าเทียมในลักษณะคู่รักเพศเดียวกันได้เบ่งบานขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการนิยาม ‘สมรสเท่าเทียม’ นั้นจำกัดเพียงรูปแบบการสมรสแบบคน 2 คนเท่านั้น ในขณะที่การสมรสแบบหลายคน (multiple-person family) ยังถูกมองว่าเป็นความสำส่อนและถูกโจมตีจากกลุ่มที่เคร่งครัดศาสนา


ในญี่ปุ่นความรักต้องแสดงด้วยหลักฐาน

ในญี่ปุ่น แม้จะมีอัตราการแต่งงานและการมีลูกที่ลดลงมาก แต่ด้วยการกำหนดบทบาทของครอบครัวที่ชัดเจนทำให้ความต้องการแต่งงานในญี่ปุ่นยังคงมีสูง เป็นที่น่าสนใจว่าในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ‘LGBT’ ได้กลายเป็นคำปกติสามัญที่ถูกใช้กันโดยทั่วไป แสดงให้เห็นถึงการรับรู้ของคนในสังคมที่มีต่อความหลากหลายทางเพศ แต่แม้จะเป็นอย่างนั้น การจะทำให้คู่รักเพศเดียวกันได้รับการยอมรับก็ยังต้องมีการแสดงหลักฐานเพื่อบ่งบอกว่าความสัมพันธ์ของคนสองคนนั้นตั้งอยู่ด้วยความรัก ความไว้วางใจ ความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และความมุ่งมั่นที่จะรับผิดชอบชีวิตของกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหาหลักฐานมาบ่งบอกได้อย่างเป็นรูปธรรม


 

การสมรสถูกผูกโยงเข้ากับการสร้างครอบครัวอย่างเหนียวแน่น

สมรสเท่าเทียม เพื่อใคร?


ปัญหาที่ขัดขวางการสมรสเท่าเทียมของประเทศในเอเชียนั้นยึดโยงกับเรื่องวัฒนธรรมและความเชื่อที่ฝังรากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ในญี่ปุ่นยังมีการกำหนดบทบาทของชายและหญิงที่ชัดเจนซึ่งบีบคั้นการแสดงออกของคนรักเพศเดียวกัน ในไต้หวันการมีครอบครัวยังคงอยู่ในกรอบของการผลิตลูกหลานเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล และในฮ่องกงการจะอยู่อาศัยร่วมกันนั้นมีค่าใช้จ่ายราคาแพง เพราะบริบทของฮ่องกงนั้นประกอบขึ้นด้วยโครงสร้างเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น


จุดร่วมอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการสมรสของคนเอเชียคือการเชื่อมโยงการสมรสให้เป็นเรื่องเดียวกันกับ 'การสร้างครอบครัว' อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะคนเชื้อสายจีนซึ่งให้ความสำคัญกับเครือญาติและสายเลือดในตระกูล การแต่งงานจึงมีบทบาทในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติอย่างแยกไม่ออก ในฮ่องกงและไต้หวัน การแต่งงานโดยทั่วไปถูกมองว่าเป็นการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในครอบครัว แตกต่างเล็กน้อยจากความเชื่อในญี่ปุ่นซึ่งมองว่าการแต่งงานนั้นเป็นเรื่องของการตัดสินใจของแต่ละบุคคล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าญี่ปุ่นมองว่าการแต่งงานเป็นเรื่องภายนอกครอบครัวมากกว่า


การแต่งงานในเอเชียมักไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของคนสองคน

ในไต้หวัน งานแต่งงานแต่ละครั้งจะต้องมีการเชิญครอบครัวของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวมาพบเจอกันและแสดงความยินดีร่วมกัน การแต่งงานจึงไม่ใช่เรื่องของคู่รักเพียงสองคนเท่านั้น สมรสเท่าเทียมในไต้หวันและในครอบครัวเชื้อสายจีนจึงพ่วงมาด้วยการเปิดเผยตัว (come out) ของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งทำให้การเอ่ยปากแจ้งข่าวแก่สมาชิกในครอบครัวเป็นประเด็นที่อาจสร้างความหนักใจได้ ประเด็นนี้มีความละเอียดอ่อนและอาจเป็นคอขวดที่จำกัดปริมาณการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันที่มีเชื้อสายจีน


เหตุผลของการแต่งงานไม่ว่าจะในเพศใดยังมีจุดศูนย์กลางเดียวกันนั่นคือ ‘การได้ดูแลกันและกันเมื่ออายุมากขึ้น’

แม้จะดูเหมือนว่าบริบทเพื่อการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันมีความแตกต่างออกไปจากคู่รักชาย-หญิง แต่ความตั้งใจที่จะแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันจำนวนมากนั้นไม่ได้ต่างไปจากความตั้งใจของคู่รักชาย-หญิงเลย เหตุผลของการแต่งงานไม่ว่าจะในเพศใดยังมีจุดศูนย์กลางเดียวกันนั่นคือ ‘การได้ดูแลกันและกันเมื่ออายุมากขึ้น’ และนี่อาจคือสิทธิที่ทุกคนควรจะได้รับไม่ว่าจะเป็นเพศใด


หากตัดรายละเอียดในเรื่องพิธีกรรมการแต่งงานออกไป แก่นแท้ของสมรสเท่าเทียมที่คนรักเพศเดียวกันในเอเชียต้องการคืออะไร? เราพบว่าสิ่งสำคัญดังกล่าวคือการได้มีสิทธิและการได้ยืนหยัดในสังคมอย่างเท่าเทียมถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการจดทะเบียนสมรสเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าความรักของคู่รักเพศเดียวกันนั้นไม่ได้น้อยค่าไปกว่าความรักระหว่างชาย-หญิง และสิทธิประโยชน์จากการจดทะเบียนสมรสของชาย-หญิงนั้นก็เป็นสิ่งซึ่งคู่รักทุกรูปแบบสมควรจะได้รับ อย่างที่ผู้ถูกสัมภาษณ์คนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า


“ฉันไม่ได้ต้องการพิธีกรรมอะไร ฉันแค่อยากจะจดทะเบียนสมรสแค่นั้นเอง ฉันจะได้มีสิทธิอย่างที่คู่รักชาย-หญิงเขาได้รับมาตั้งนานแล้ว”



 

อ้างอิง

Tang, D. T. S., Khor, D., & Chen, Y. C. (2020). Legal recognition of same-sex partnerships: A comparative study of Hong Kong, Taiwan and Japan. The Sociological Review, 68(1), 192-208.

bottom of page