จากคำกล่าวที่ว่า “ไทยแลนด์คือแดนสวรรค์ของชาวสีรุ้ง”[1] การสร้างวาทกรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นมาได้ก็คงเป็นเพราะชาวโลกยกให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยากจะมาท่องเที่ยว อยากจะมาอาศัยอยู่เป็นอันดับต้น ๆ รวมถึงกลุ่มคน LGBTQIAN+ ในต่างประเทศที่มองว่าประเทศไทยคือดินแดนเสรี เป็นประเทศที่เปิดกว้างเรื่องเพศที่มีการแสดงออกมากมายบนโลกอินเทอร์เน็ต ทั้งการมีคู่จิ้นผู้ชายกับผู้ชาย ผู้หญิงกับผู้หญิง หรือแม้กระทั่งผู้ชายกับทอม และยังเป็นประเทศที่มีการส่งออกของซีรีส์ชายรักชายมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ภายใต้ความสวยงามเหล่านั้นยังมีมุมมองอีกมุมหนึ่งที่อาจไม่ได้สวยงามตามที่ใครหลายคนมอง เป็นอีกแง่มุมที่ถูกละเลยและถูกรังเกียจ โดนคุกคามและรังแก ถูกเลือกปฏิบัติจากคนในประเทศด้วยกันเอง เพียงเพราะคนเหล่านั้นเป็นชาวสีรุ้งหรือ LGBTQIAN+ แล้วดังนั้นคำที่ว่าไทยแลนด์คือแดนสวรรค์ของชาวสีรุ้งนั้นจริงหรือ
ความหมายของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ชาวสีรุ้ง หรือ LGBTQIAN+
คำว่าชาวสีรุ้งเป็นคำแทนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIAN+ ที่มาจากคำว่า L Lesbian คือ ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกันเอง , G Gay คือผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกันเอง ซึ่งทั้งสองคำนี้เป็นคำที่ผู้คนรู้จักกันมากที่สุด โดยจริงแล้วในต่างประเทศจะเรียกคนที่มีความชอบในเพศเดียวกัน ทั้งชายรักชายและหญิงรักหญิงว่า Gay หากมองย้อนกลับไป ใน ค.ศ.1920 คำว่าเกย์ถูกใช้เป็นคำหยาบแต่หากในปัจจุบัน คำว่าเกย์กลับกลายเป็นคำที่ชาว LGBTQIAN+ ชอบใช้เพราะความหมายของคำนี้ครอบคลุมไปถึงสิทธิเกย์ที่เป็นคำที่พวกเขาใช้เอาไว้ใช้แสดงถึงสิ่งที่พวกเขากำลังขับเคลื่อนเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียม , B Bisexual คนที่สามารถรักได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย , T Transgender คือบุคคลที่ข้ามเพศ ซึ่งจะมีทั้งเพศหญิงข้ามมาเป็นเพศชาย และเพศชายข้ามไปเป็นเพศหญิง , Q Queer กลุ่มคนที่มีความลื่นไหลทางเพศ ไม่ได้จำกัดว่าตนจะต้องรักเพศใด[2,3] , I Intersex ผู้ที่ระบุเพศไม่ได้ , A Asexual ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ , N Non-Binary คือผู้ที่ไม่ต้องการที่จะระบุเพศของตน ไม่ได้จะตีกรอบตนเองว่าจะเป็นแค่หญิงหรือชาย[4]
สีรุ้งคือสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของการรวมตัวของสีหลากหลายสีที่มารวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อสร้างสีสันที่สวยงาม การที่นำเอาสีรุ้งมาเป็นสัญลักษณ์ก็เพราะ LGBTQIAN+ คือกลุ่มของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเฉกเช่นเดียวกับรุ้งที่มีความหลากหลายของสี ซึ่งจุดเริ่มต้นที่มีการนำเอาสีรุ้งมาทำเป็นธงจากชายที่มีชื่อว่า Gilbert Baker เขาเป็นทั้งศิลปินและนักขับเคลื่อนสิทธิของชายรักชายหรือเกย์ ในปี ค.ศ.1978 ซึ่งธงสีรุ้ง Gilbert Baker เขาได้แรงบันดาลใจมาจากธงในวาระครบรอบ 200 ซึ่งเป็นธงประจำชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มแรกของธงสีรุ้งมีทั้งหมดแปดสี ได้แก่ Hot pink ที่สื่อความหมายเรื่องเพศ สีแดงเป็นสีที่หมายถึงชีวิต สีส้มคือการเยียวยา สีเหลืองเปรียบเหมือนแสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง สีเขียวหมายถึงธรรมชาติ สีฟ้า Turquoise หมายถึงเวทมนตร์ สีน้ำเงินม่วงคือความสามัคคี และสีสุดท้ายสีม่วงคือจิตวิญญาณอันแน่วแน่ แต่ภายหลังได้มีการตัดสองสีออก ได้แก่สี Hot pink และสีฟ้า Turquoise จนในปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 6 สีแต่ความหมายของแต่ละสียังคงเดิม[2]
การยอมรับ LGBTQIAN+ ในสังคมไทย
แม้ทุกวันนี้ในสังคมของประเทศไทยจะดูมีเสรีและเปิดกว้างให้กับชาวสีรุ้งที่นานาชาติให้การยอมรับว่าประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้การยอมรับเรื่องของความหลากหลายทางเพศมากขึ้น มีการนำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สื่อโทรทัศน์หรือเรียกว่าซีรีส์วาย ถ้าหากจะมองกันแค่ผิวเผินก็ดูเหมือนว่าจะมีการยอมรับที่ทำให้บุคคลสามารถเปิดเผยตัวตนทางเพศได้อย่างไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมไทยยังมีพื้นที่ที่ปิดกั้นหรือไม่ได้เปิดรับความหลากหลายทางเพศอย่างเต็มที่ นักแสดงนำยังมีการเลือกนักแสดงที่รูปร่างหน้าตาดีหรือเพศสภาพที่เป็น “ชายแท้” (ในความหมายคือผู้ชายที่ชอบผู้หญิง) มารับบทเป็นนักแสดงนำ ส่วนนักแสดงที่เป็น LGBTQIAN+ ไม่สามารถมารับบทนำหรือเป็นตัวละครหลักได้ แต่ให้ผู้ชายมารับบทเป็นเกย์แทน รวมทั้งยังคงมีการล้อเลียน รังแก คุกคามทางเพศ ความรุนแรงจากอคติของสังคมยังรวมไปถึงการถูกลิดรอนสิทธิต่าง ๆ และไม่มีข้อกฎหมายมาปกป้องหรือสนับสนุนกลุ่มเพศทางเลือกเลย ความเชื่อมโยงกับมิติต่าง ๆ ในสังคม อาทิ ด้านการประกอบการอาชีพ ทั้งการที่จะประกอบอาชีพเป็นข้าราชการครูซึ่งยังมีการแบ่งแยกชนชั้นทางเพศอย่างชัดเจน ครูที่เป็น LGBTQIAN+ โดนมองว่ามีความไม่เหมาะสมที่จะมาเป็นครูเนื่องจากมีความกังวลว่านักเรียนที่มีครูที่เป็นกลุ่มคน LGBTQIAN+ จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอึดอัดและมีพฤติกรรมเลียนแบบ และการไปสมัครงานของหญิงข้ามเพศที่โดนปฏิเสธเพราะมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด[5]
การคุกคามทางเพศต่อกลุ่ม LGBTQIANT+ ในประเทศไทย
การโดนคุกคามและการโดนใช้ความรุนแรงทางเพศของ LGBTQIAN+ ในประเทศไทยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมไทย การคุกคามที่เกิดขึ้นนั้นทั้งการโดนด่าทอ พูดจาเสียดสี ล้อเลียน เหน็บแนม ร่วมไปทั้งการโดนรังแก ทำร้ายร่างกายเช่น โดนตี เตะ ต่อยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ที่โรงเรียน ที่ทำงานงาน แม้กระทั่งในครอบครัวเองก็ตาม การโดนคุกคามทางวาจาจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายเช่นการใช้คำเสียดสี คำที่พบได้บ่อยมากในปัจจุบันคือ “ตุ๊ด” ที่เอาไว้ใช้ด่าบุคคลที่มีลักษณะตุ้งติ้ง อาจจะเพิ่มเติมความหยาบคายไปอีกด้วยเพิ่มเติมไปเป็น “ไอตุ๊ด”หรือ “อีตุ๊ด” หรือประโยคที่ใช้กันบ่อยในล้อเลียน “สายเหลือง” กับ “มนต์รักฟักทองบด” ที่มีความหมายคือการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก แต่คำนี้ก็ไม่ได้โดยใช้แค่กลุ่มของบุคคล LGBTQIAN+ เพียงอย่างเดียวแต่มีการนำไปใช้เป็นคำด่าที่ทั่วไปที่มักจะพบในคนหนุ่มสาวที่เอาไว้ด่าทอเพื่อเหน็บแนมผู้อื่น และก็เป็นคำที่ไว้ใช้ลดคุณค่าของผู้ชายแท้ที่มีลักษณะนิสัยอ่อนโยนอีกด้วย และคำที่พบได้บ่อยอีกหนึ่งคำ “กะเทย” ที่มักใช้ในการด่าทอคนที่เป็นบุคคลข้ามเพศที่เปลี่ยนจากชายเป็นหญิง (Transwoman) มีอีกคำที่เพิ่มความรุนแรงอีก “กะเทยควาย” มักจะใช้กับคนข้ามเพศที่มีลักษณะภายนอกบึกบึน แม้แต่ในหญิงรักหญิงเองก็มีคำประโยคเหน็บแนมจากผู้ชาย อาทิ “อยากเปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” เป็นประโยคที่มีความหมายคุกคามทางเพศอย่างเห็นได้ชัด การโดนคุกคามทางเพศที่ไปถึงขั้นการลวนลามที่กระทำโดยจากทั้งชายและหญิง การลูบคลำ ร้ายแรงที่สุดคือการข่มขืนหรือการโดนรุมโทรม เป็นต้น[6]
การถูกเลือกปฏิบัติของกลุ่ม LGBTQIAN+ ในสังคม (ด้านการศึกษาและสังคมการทำงาน)
การถูกเลือกปฏิบัติของกลุ่ม LGBTQIAN+ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการถูกเลือกปฏิบัติในวงกว้างเกิดขึ้นในครอบครัว เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะให้การยอมรับลูกที่เป็นชาวสีรุ้ง การปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมที่เห็นได้ชัดจากครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนแล้วคนใดคนหนึ่งเป็นเพศที่หลากหลายจะถูกพ่อแม่ละเลยการให้ความรักและความเอาใจใส่แล้วหันไปใส่ใจลูกอีกคนมากกว่าจนทำให้เด็กคนนั้นเกิดปมในจิตใจ แม้แต่สถาบันที่ได้ชื่อว่าเป็นบ้านหลังที่สองคือโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็ยังมีสิ่งเหล่านี้ที่เกิดจากครูอาจารย์ที่มีทัศนคติเชิงลบกับนักเรียนนักศึกษาที่เป็นกลุ่มคนเพศหลากหลาย จากงานวิจัยของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในปี 2562 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีการเลือกปฏิบัติอยู่ 2 รูปแบบคือแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยแบบทางการในที่ทำงาน เป็นขั้นตอนปฏิบัติงาน การโดนไล่ออก การรับค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมกับเพศหญิงหรือเพศชาย แม้กระทั่งการโดนปฏิเสธไม่ให้ได้มีการเลื่อนตำแหน่งงานที่สูงขึ้น เพราะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด และแบบที่ไม่เป็นทางการในที่ทำงาน จะพบในลักษณะของการเลือกปฏิบัติ การโดนรังเกียจ ถูกระรานจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน
เพศสภาพในบทบัญญัติพื้นฐานทางกฎหมาย
ความหมายของคำว่า “เพศสภาพ” เองนั้นมีจากหลายแหล่งที่มา หนึ่งแหล่งที่ได้ให้ความหมายของคำว่าเพศสภาพไว้ได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายคือพจนานุกรม ศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ-ไทย ฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2549 ได้บัญญัติศัพท์ให้ความหมายคําว่า “เพศสภาพ” ไว้ดังนี้ คือ ความหมายทั่วไป หมายถึง ความแตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงตามเพศในทางกายวิภาค ความหมายทางสังคมวิทยา หมายถึง การจําแนกทางสังคม ซึ่งไม่จำเป็นต้องแบ่งตามลักษณะทางกายวิภาคเสมอไป ตามความหมายในเชิงสังคมวิทยาและจิตวิทยาสังคม "เพศ" (sex) หมายถึง ลักษณะทางชีวภาพที่ใช้ในการแบ่งแยกกลุ่มมนุษย์ออกเป็นผู้หญิง ผู้ชาย ส่วน "สถานะเพศ" (gender) หมายถึงลักษณะในเชิงสังคมและจิตวิทยาสังคมที่ใช้เป็นพื้นฐานในการแบ่งแยกกลุ่มมนุษย์ว่า "เป็นหญิง" (feminine) "เป็นชาย" (masculine) หรือ "เป็นหญิงชาย" (androgenous) (ซึ่งเป็นลักษณะผสมระหว่างลักษณะเด่นของความเป็นชายและความเป็นหญิง)[7]
ตามที่ได้บัญญัติไว้ในร่างของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติในภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ตอนที่ 2 สิทธิมนุษยชน มาตรา 34 ว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน”[7]
จากความหมายที่ได้กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ตามร่างของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีบัญญัติเอาไว้ถึงบุคคลเพศที่สาม เพศทางเลือก หรือ LGBTQIAN+ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันแม้แต่ในร่างของกฎหมายสูงสุดของประเทศ
ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ยังไม่มีการปรับแก้ไขให้เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และยังมีเรื่องของกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ยังถูกยืดเยื้อการปัดตกและการแก้ไขมาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ ทำให้การแต่งงานของชาวสีรุ้งไม่ได้รับการยอมรับจากกฎหมาย ไม่ได้รับสิทธิหรือประโยชน์ที่ควรได้เลย เช่น สิทธิประกันชีวิต สิทธิการจัดการสินสมรส สิทธิประโยชน์ด้านภาษี สิทธิสวัสดิการจากรัฐบาล รวมไปถึงการยินยอมให้มีการรักษาพยาบาลเมื่อคู่รักต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งในทางกฎหมายยังต้องให้ญาติเท่านั้นที่สามารถเซ็นยินยอมให้มีการผ่าตัดได้ การที่ไม่มีข้อกฎหมายมารองรับพวกเขาเหล่านี้ทำให้พวกเขาต้องออกมาเรียกร้องสิทธิเพื่อความเท่าเทียมแต่ก็ยังพบกับอุปสรรคที่หนักหนาตลอดเส้นทางของการเปลี่ยนแปลง
การสร้างความตระหนักต่อสังคมที่มีต่อชาวสีรุ้ง
การสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคมไทยเพื่อให้พวกเขาได้เข้าใจถึงการเป็นตัวตนของคนทุกคนและเข้าใจถึงสิทธิและเสรีภาพของทุกคนรวมไปทั้งชาวสีรุ่งว่าพวกเราก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคมได้ ซึ่งการที่เราจะปลูกฝังการเคารพสิทธิของผู้อื่นควรที่จะทำตั้งแต่วัยเด็ก ดังคำกล่าวที่เป็นคำตอบของผู้เข้าประกวด Miss Tiffany Universe 2020 คุณร็อค ขวัญลดา ที่ได้ให้คำตอบที่เกี่ยวกับอนาคตโดยคุณร็อค ขวัญลดา ได้ให้คำตอบว่า “ร็อคอยากปลูกฝังเรื่องของ LGBTQ+ ตั้งแต่วัยเด็ก ร็อคเคยสงสัยมาตลอดนะคะว่าทำไมในหนังสือเรียนภาษาไทย มานะ มานี ปีติ ชูใจ ทำไมถึงมีแค่เพศหญิงและเพศชาย ทำไมถึงไม่มีเพศของพวกเราอยู่ในนั้น (คุณร็อคหมายถึงชาว LGBTQIANT+)ร็อคมองว่าการแก้ไขปัญหาตั้งแต่วัยเด็กนั้นทำให้เด็กนั้นเติบโตมาเข้าใจทุก ๆ เพศและเราโตมาเราไม่จำเป็นต้องเรียกร้องอะไรเลย เพราะเราไม่ต้องการให้ใครมาให้เกียรติเรา แต่เราต้องการการปฏิบัติแบบ seamless” คำตอบนี้ทำให้คุณร็อค ขวัญลดา ได้ชนะการประกวดMiss Tiffany Universe 2020 ซึ่งเป็นคำตอบที่สามารถพูดแทนความในใจของกลุ่มชาวสีรุ้งได้เป็นอย่างดีถึงการที่อยากจะสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม ว่ากลุ่มของชาวสีรุ้งไม่ได้ต้องการอะไรมากมายเลย พวกเขาต้องการเพียงการเข้าใจและเคารพถึงสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงได้
จากองค์ประกอบต่าง ๆ ในบริบทของสังคมที่มีต่อชาวสีรุ้งที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนั้นก็เป็นข้อมูลที่พอที่จะสามารถตอบคำถามได้ว่า “คำที่ว่าไทยแลนด์คือแดนสวรรค์ของชาวสีรุ้งนั้นจริงหรือ” ซึ่งจากบริบทที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยที่มีการเปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถหลีกหนีการโดนรังแก การถูกเลือกปฏิบัติ การกลายเป็นตัวตลกของสังคมได้ ถูกกีดกันแม้แต่ในข้อกฎหมายที่จะให้สิทธิที่ควรจะได้ ทั้งการสมรส และการได้รับความคุ้มครอง คงไม่แปลกที่หลายคนจะไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าประเทศไทยคือแดนสวรรค์ของชาวสีรุ้งจริง ๆ แต่หากในวันข้างหน้าเกิดการเปลี่ยนแปลง เพียงเริ่มจากการยอมรับและความเข้าใจว่าชาวสีรุ้งหรือ LGBTQIAN+ ทุกคนก็คือมนุษย์ที่เท่าเทียมกับทุกคนในสังคม วันนั้นอาจจะเป็นวันที่ผู้เขียนจะสามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่า “ไทยแลนด์คือแดนสวรรค์ของชาวสีรุ้งจริง ๆ”
เอกสารอ้างอิง
[1] นภัสสร เจริญการ. (2560). ไทยแลนด์แดนสวรรค์ LGBT จริงหรือ?. สืบค้นจาก
[2] สิทธิศักดิ์ บุญมั่น และวิชัย ตาดไธสงค์. (2564). ทำไมสัญญาลักษณ์ LGBTQ ถึงเป็นสีรุ้ง ?. สืบค้นจาก
[3] PPTV Online. (2561). มารู้จักคำศัพท์ย่อเกี่ยวกับเพศ "LGBTQ+" ให้มากขึ้น. สืบค้นจาก https://www.pptvhd36.com/news/
[4] ไทยรัฐออนไลน์. (2565). เปิดความหมาย "LGBTQIAN+" ทำไมใครๆ ก็พูดถึงในเดือน Pride Month. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2418192
[5] กังวาฬ ฟองแก้ว และคณะ. (2560). สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง. มหาวิทยาลัยบูรพา,
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. สืบค้นจาก
file:///C:/Users/Asus/Downloads/UNDP_Thailand_TH-tool-for-change-thai%20(2).pdf
[6] บุษกร สุริยสาร. (2557). อัตลักษณ์และวิถีทางเพศในประเทศไทย. สืบค้นจาก
file:///C:/Users/Asus/Downloads/wcms_356948.pdf
[7] วิชาญ ทรายอ่อน. (2558). เพศสภาพ. สืบค้นจาก
Comments